ยอดแหลมและผนังกระจกที่สะท้อนแสงแดดระยิบระยับ อาจทำให้คิดว่าสิ่งปลูกสร้างที่เห็นเป็นโปรเจ็กต์โมเดิร์นอาร์ต แต่ความจริงนวัตกรรมการออกแบบนี้คือพิมพ์เขียวของเมืองแห่งอนาคต ปิระมิดกระจกขนาดมโหฬารที่สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้หนึ่งล้านคน
โปรเจ็กต์นี้มีชื่อว่า ‘ซิกกูรัต' สามารถพึ่งพิงตัวเองและมีความเป็นกลางด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานจากกังหันลม
ภายในปิระมิดขนาด 2.3 ตารางกิโลเมตรไม่อนุญาตให้รถยนต์วิ่ง ผู้อยู่อาศัยจะเดินทางด้วยเครือข่ายรถไฟรางเดี่ยวที่มีให้บริการทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ
เมืองแห่งอนาคตสามารถรองรับประชากรได้ 1 ล้านคน รักษาความปลอดภัยด้วยระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ด้วยลักษณะทางกายภาพ โดยผู้อยู่อาศัยจะต้องสแกนใบหน้าก่อนเข้าบ้าน
ไทม์ลิงก์ส บริษัทออกแบบในดูไบ จดสิทธิบัตรการดีไซน์และเทคโนโลยีนี้ไว้แล้วเพื่อจัดเตรียมทำโครงการในอนาคต
ไรดัส มาโทนิส กรรมการผู้จัดการไทม์ลิงก์ส บอกว่า เมืองแห่งอนาคตจะเป็นจริงได้จากการควบคุมพลังธรรมชาติ พร้อมย้ำว่า ชุมชนซิกกูรัตแทบจะเรียกได้ว่าพึ่งพิงตนเองด้านพลังงานเบ็ดเสร็จ
นอกเหนือจากการใช้ไอน้ำในอาคารแล้ว ซิกกูรัตยังใช้เทคโนโลยีกังหันลมเพื่อควบคุมแหล่งพลังงานจากธรรมชาติ
อาคารจากจินตนาการเหลือเชื่อนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะนอกใช้พลังลมแล้ว ยังห้ามการใช้รถยนต์ และไม่เพียงช่วยลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ซิกกูรัตยังใช้พื้นที่ไม่ถึง 10% จากการใช้พื้นที่ปกติ ทั้งนี้ เมื่อคำนวณจากจำนวนผู้อยู่อาศัย
"ถ้าโครงการนี้เป็นจริงในวันนี้ โลกจะเห็นชุมชนที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติที่รายล้อมอยู่" มาโทนิสทิ้งท้าย
ที่มา : http://www.manager.co.th